Accessibility Tools

Skip to main content

ประวัติความเป็นมา

โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรีถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากบ้านเด็กตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อนกรุงเทพฯมีเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อนที่กำพร้าจำนวนกว่า 60 คนที่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพและยังมีผู้ขอรับบริการอีกเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยอุปสรรคเรื่อง ความแออัด และความจำกัดด้านสถานที่ จึงทำให้ไม่สามารถขยายบริการได้

 ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คุณกุสุมา  มินทะขิน  และครอบครัวมินทะขิน บุตรของคุณโชติและคุณมานี (วรพิทยุต)  มินทะขิน  ซึ่งเป็นตระกูลวรพิทยาของจังหวัดลพบุรี ได้บริจาคที่ดินจำนวน 8 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา  บริเวณติดถนนพหลโยธิน  ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ให้กับมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคน ตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้นำมาสร้างเป็นโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี  ให้บริการแก่คนตาบอดในจังหวัดลพบุรี รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ สระบุรี  สิงห์บุรี  ชัยนาท  อ่างทอง  เพชรบูรณ์  และพระนครศรีอยุธยา ฯลฯ

  โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี  เปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อวันที่  9 เดือน มิถุนายน  พ.ศ. 2544  โดยให้บริการนักเรียนตาบอดพิการซ้ำซ้อนกำพร้า ที่ส่งต่อมาจากบ้านเด็ก ตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อน กรุงเทพฯ  ให้เข้ารับการศึกษา พัฒนาและฟื้นฟูสมรรถภาพประมาณ 40 คน  เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2545  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ( สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ) เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี  และเริ่มเปิดรับสมัครนักเรียนตาบอดและตาบอดพิการซ้ำซ้อน  ในเขตพื้นที่ให้บริการ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน